วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตอน พระบิดาแห่งมาตรฐานช่างไทย


ในห้วงแห่งความโศกเศร้าของปวงชนชาวไทย เนื่องมาจากการสูญเสียผู้เป็นที่รักและเคารพยิ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ นอกเหนือจากการทำใจและร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแล้ว เรายังควรระลึกถึงพระกรณียกิจอันทรงคุณค่าของพระองค์ เพื่อยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต... และหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านได้ทรงงานอันเหลือคณานับ งานช่าง ก็เป็นด้านหนึ่งที่ทราบกันดีว่า พระองค์ได้รับการขนานพระราชสมัญญาว่า... “พระบิดาแห่งมาตรฐานช่างไทย


 พระอัจฉริยะภาพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในด้านงานช่าง ได้เริ่มมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงโปรดที่จะประดิษฐ์ของเล่น และสร้างสิ่งต่างๆ ด้วยพระองค์เอง เช่น มีความในหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์” พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีข้อความว่า “ทรงโปรดงานทางช่างและงานศิลปะมาแต่ทรงพระเยาว์...

และแม้ต่อมา เมื่อได้ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีพระราชภารกิจมากมาย แต่ก็ยังทรงแบ่งเวลามาทรงงานช่าง และทรงเป็นต้นแบบของผู้ที่ทำงานช่างทั้งมวล จนได้รับการขนานพระราชสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งมาตรฐานช่างไทย” และมีวันที่รำลึกถึงพระราชกรณียกิจในด้านนี้ในวันที่ 2 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งเป็น วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่ระลึกที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับงานช่าง เนื่องในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดงาน แนะแนวอาชีพ และแข่งขันฝีมือแห่งชาติครั้งที่ 1 ณ ลุมพินีสถาน มีความตอนหนึ่งที่ใคร่ขออัญเชิญมาดังนี้...

"ช่างทุกประเภท เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคน เพราะตลอดชีวิตของเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการหรือสิ่งต่างๆ ที่มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่ สนับสนุนจากทุกๆ ฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบัน วิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิงใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการในการส่งเสริมนั้น มีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่สามประการ

ประการแรก ได้แก่ ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ

ประการที่สอง ได้แก่ ปัญหาเรื่องฝีมือซึ่งต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพได้มาตรฐานจริงๆ

ประการที่สาม ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาด เพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย

การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้จะต้องการทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไรสำหรับนำมาเป็นทุนรอนสร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากความคิดทั้งนี้ไว้เป็นแนวปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป...."


ขอบคุณบทความจาก : houzzMate.com  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น