เป็นเรื่องที่น่าหนักใจพอสมควรที่เดียวสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย ทั้งด้านของผู้ว่าจ้าง ซึ่งได้ตกลงใจว่าจ้างให้ ผู้รับเหมา ทำงานให้จากราคาที่ยื่นเสนอมาก่อนหน้า พูดง่ายๆ ก็คือ ราคานั้นเป็นที่พอใจ และมีความพร้อมหรือเตรียมค่าใช้จ่ายเอาไว้สำหรับจำนวนนั้นอยู่แล้ว แต่พอ ผู้รับเหมา มาแจ้งว่าจะต้องมีการเพิ่มราคา อันนี้ก็ทำให้หนักใจได้เหมือนกัน ทางฝ่ายของ ผู้รับเหมาก่อสร้าง เองก็เช่นกัน หากว่ามาพบในภายหลังว่าตนเองคิดราคาผิด แต่ได้เสนอราคาไปแล้วในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหรือทำได้ งานนี้หนักใจจนต้องกุมขมับแน่นอน เพราะนั่นหมายถึงการได้กำไรน้อยลง หรือกระทั่งขาดทุนเลยก็ว่าได้... เป็นเรื่องที่น่าหนักใจมาก ในกรณีเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งเรื่องนี้ เราได้ไปขอความเห็นจากนักกฎหมาย เพื่อให้มาไขความข้องใจและชี้แนะแนวทางที่เหมาะสมให้
คำถามเรื่องงาน รับเหมาก่อสร้าง ในมุมมองความเห็นจากนักกฎหมาย
คำถาม : ผู้รับเหมาตีราคาผิด จะขอขึ้นราคาภายหลังจากทำสัญญาไปแล้วได้หรือไม่ (กรณี ผู้รับเหมาอ้างว่าสัญญาเดิมไม่เป็นธรรม)
ความเห็นนักกฎหมาย :
“ในกรณีที่ผู้รับเหมาขอขึ้นราคาเนื่องจากตนตีราคาผิด โดยสภาพจะเห็นได้ชัดเจนว่า เหตุเกิดเพราะความผิดพลาดของฝ่ายผู้รับเหมาเอง ในกรณีเช่นนี้ หากยังอยู่ในระหว่างการร่างข้อตกลงในสัญญาไม่เสร็จบริบูรณ์ ซึ่งทั้งฝ่ายผู้ว่าจ้างและผู้รับเหมาสามารถตกลงยืดหยุ่นกันได้ การตกลงแก้ไขราคาในข้อสัญญาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้ต่อไปอย่างมีความสุขและเป็นธรรม แต่หากเป็นกรณีที่สัญญาแล้วเสร็จล่วงเลยขั้นตอนของการตกลงร่างข้อสัญญาแล้ว โดยหลัก ผู้รับเหมาคงไม่อาจขอเปลี่ยนแปลงเพิ่มราคาได้เพราะการเสนอราคามาในคราวแรกนั้น เกิดจากการแสดงเจตนาของผู้รับเหมาเอง มิได้เกิดจากการถูกฉ้อฉล หลอกลวง หรือขู่เข็ญประการใด และมิใช่เรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540
อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็ยังคุ้มครองผู้รับเหมาเมื่อผู้รับเหมาตีราคาผิด เฉพาะในกรณีที่พฤติการณ์เห็นได้ชัดเจนว่า การตีราคาผิดเกิดจากการสำคัญผิดอย่างร้ายแรง เช่น ราคาที่ผู้รับเหมาเสนอให้แก่ผู้ว่าจ้างนั้น เป็นราคาที่ตำกว่าราคาตามท้องตลาดในปกติมาก ซึ่งไม่ว่าผู้ใดเห็นราคาดังกล่าวย่อมทราบได้ทันทีว่า เป็นการตีราคาผิดอย่างแน่แท้ เช่นนี้ ในทางกฎหมายอาจถือได้ว่า ผู้รับเหมาแสดงเจตนาเสนอราคาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญของนิติกรรม ซึ่งเป็นผลให้การเสนอราคาอันถือเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาสัญญาตกเป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับใช้ได้ คู่สัญญาต้องตกลงกันใหม่ แต่ทั้งนี้การที่ผู้รับเหมาจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างเพื่อขอแก้ไขราคาได้ ต้องปรากฏพฤติการณ์ดังว่ามานี้อย่างชัดเจนจริงๆเท่านั้น มิฉะนั้นแล้ว ผู้รับเหมาย่อมไม่อาจขอขึ้นราคาได้”
สรุปก็คือ... ในกรณีที่อยู่ในระหว่างการตกลง ยังไม่ได้มีการทำสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้างกับ ผู้รับเหมา กรณีรู้ว่าเกิดความผิดพลาด สามารถที่จะมาทำการตกลงต่อรองกันใหม่ได้ ในการขอปรับราคา หรือแม้แต่การเปลี่ยนแบบ แต่หากว่า มีการเซ็นสัญญารับเหมาก่อสร้าง ไปแล้ว อันนี้ ผู้รับเหมา ไม่สามารถแก้ไขได้ต้องยึดตามสัญญา เพราะราคาที่เสนอพร้อมรายละเอียดเป็นสิ่งที่ผู้รับเหมาเสนอเอง และมีความยินยอมพร้อมใจ ไม่ได้เกิดจากการถูกข่มขู่หรือถูกหลอก ต้องทำไปตามนั้น พูดง่ายๆ ก็คือ เสนอมาเอง และทั้งสองฝ่ายก็พอใจจนเกิดเป็นสัญญาขึ้นแล้ว แต่ ก็ใช่ว่า ผู้รับเหมาต้องก้มหน้าก้มตาทำไปทั้งๆ ที่จะเกิดความเสียหายหรือขาดทุน สามารถขอความเป็นธรรมทางกฎหมายจากศาลได้ ด้วยการยื่นร้องต่อศาลให้วินิจฉัย ว่ามันเป็นความผิดพลาดโดยสุจริตใจ และพิสูจน์ได้ว่าราคานั้นผิดจากความเป็นจริงที่จะสามารถทำได้มาก อันนี้ถ้าจริงก็สามารถทำสัญญาใหม่กันได้ โดยศาลจะให้สัญญาเดิมเป็นโมฆะ หรือ ไม่มีผล ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่ต้องเป็นเรื่องจริง มีเหตุผล และสามารถแสดงหลักฐานให้ชัดเจนได้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาเดิมที่ ผู้รับเหมา ทำสัญญาอย่างเต็มใจในตอนแรกได้... และหากว่ามีคำถามหรือข้อสงสัยในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างหรืองานช่าง สามารถส่งคำถามมาได้ที่ houzzmate@gmail.com เราจะนำคำถามไปหาคำตอบและความคิดเห็นจากนักกฎหมายและนำมาให้คำตอบกับท่าน
ขอขอบคุณบทความจาก : houzzMate.com แหล่ง หาช่าง ผู้รับเหมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น