ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าการติดต่อสื่อสารกันเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย สืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีออนไลน์ ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือและ Application ใหม่ๆ ออกมาให้เราใช้งานกันเยอะแยะ สื่อสารกันผ่านระบบ internet สังคมออนไลน์รูปแบบต่างๆ ส่งข้อมูลหากันได้ทั้ง ข้อความตัวหนังสือ ภาพ เสียง คลิปวีดีโอ หรือจะสนทนากันทั้งแบบเสียงหรือจะเอาแบบเห็นหน้าเห็นตากันก็ทำได้ อย่างไรก็ดีความสะดวกนั้นบางครั้งอาจจะทำให้เราทำเรื่องผิดพลาดได้โดยที่ไม่รู้ตัว เช่น กรณี เจ้าของบ้าน กับ ช่าง หรือ ผู้รับเหมา เกิดปัญหาระหว่างกันขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่ช่างหรือ ผู้รับเหมาส่งงานช้า หรือเจ้าของบ้านจ่ายเงินไม่ตรงเวลา บางครั้งอาจเกิดอารมณ์อยากจะต่อว่า แล้วทำการพิมพ์ส่งข้อความโดยมีเจตนาจะ “ประชด” ให้อีกฝ่ายได้คิด ยกตัวอย่างเช่น เจ้าของบ้าน จ่ายเงินช้า ผู้รับเหมา ส่งข้อความไปบอกเป็นทำนองว่า “เงินที่เหลือไม่ต้องจ่ายแล้วก็ได้นะ ยกให้ ทำงานให้ ฟรี” หรือ เจ้าบ้านผู้ว่าจ้างประชด ช่าง ผู้รับเหมา ทำนองว่า “เงินที่จ่ายไปน่ะ ให้ฟรีเลยละกัน งานไม่ต้องมาทำล่ะ” อะไรทำนองนี้ ซึ่ง แน่นอนว่าการส่งข้อความไป ทำโดยเจตนาต้องการประชด แต่… ทราบหรือไม่ว่า การทำเช่นนี้ อาจทำให้ คุณ ต้องสูญเงินจำนวนนั้นไปจริงๆ ก็เป็นไปได้…
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้ยกตัวอย่างจาก
ฎีกาย่อ
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๕๗/๒๕๖๐
(ขออนุญาตสงวนนามโจทก์และจำเลย)
แพ่ง เจตนาซ่อนเร้น (ม.๑๕๔)
ปลดหนี้ (ม.๓๔๐)
วิธีพิจารณาความแพ่ง สืบพยานบุคคลแก้ไขเอกสาร (ม.๙๔)
พระราชบัญญัติ ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔ (ม.๗,ม.๘)
ข้อความที่โจทย์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊คมีใจความว่า เงินทั้งหมด ๖๗๐,๐๐๐ บาท ไม่ต้องส่งคืนแล้ว ยกให้หมดไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องนำพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔ มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา ๗ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรา ๘ บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙ ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐาน หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว ดังนั้นข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางเฟสบุ๊ค แม้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความของโจทก์ทางเฟสบุ๊คจะปรากฎชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาจึงรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๐ แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ โจทก์ไม่อาจยกเหตุว่าโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะปลดหนี้ให้จำเลยแต่ทำไปเพราะความเครียดต้องการประชดประชันจำเลยขึ้นอ้างเพื่อให้เจตนาที่แสดงออกไปตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้รู้ถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายในของโจทก์ซึ่งจากตัวอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายส่งมานี้ ทำให้เราได้ทราบ ข้อความที่ส่งหากันทางระบบออนไลน์ มีผลผูกมัดทางกฏหมาย การส่งข้อความโดยเจตนาจะประชดประชัน อาจนำมาซึ่งผลเสียหายต่อตัวของผู้ส่งข้อความเอง เมื่อข้อคงามนั้นถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมาย ดังนั้นก่อนจะส่งข้อความใดๆ ขอให้พิจารณาให้ดี คิดก่อนส่งทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมาในภายหลัง ซึ่งเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ที่อยากนำเสนอต่อทั้งฝั่งผู้ที่เป็นเจ้าของบ้าน คนที่ หาช่าง และทั้งฝั่ง ช่าง หรือ ผู้รับเหมา ให้ได้ทราบถึงผลของมัน ที่มีเกิดขึ้นมาแล้ว…
ขอบคุณที่มาจาก มุมกฎหมาย เจ้าของบ้านหรือผู้รับเหมาโปรดระวัง ส่งข้อความทวงแบบประชดอาจ “อดได้เงิน”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น