มุมกฎหมาย ผู้รับเหมาทิ้งงาน วัสดุที่ทิ้งไว้เอามาใช้ได้หรือไม่ 3
มาต่อกันเป็นตอนที่ 3 อันเป็นสุดท้ายในเรื่อง “ผู้รับเหมาทิ้งงาน วัสดุที่ทิ้งไว้เอามาใช้ได้หรือไม่” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นและพบเจอกันได้ในงานก่อสร้าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นคำถามคาใจของทั้งสองฝ่าย ทั้งด้านของผู้ว่าจ้างและในฝ่ายของ ผู้รับเหมา ทำให้เกิดความขัดแย้งกันในกรณีเอาวัสดุที่อยู่ในสถานที่ก่อสร้างไปใช้งาน ซึ่งต้องการนำมาใช้ หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องมีการดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน
คำถาม :
ผู้รับเหมาทิ้งงาน วัสดุที่ทิ้งไว้เอามาใช้ได้หรือไม่
ความเห็นนักกฎหมาย :
“หลายครั้งที่ในการตกลงว่าจ้างก่อสร้างระหว่างผู้รับเหมากับเจ้าของบ้าน เป็นการตกลงโดยให้ผู้รับเหมาเป็นผู้รับผิดชอบทั้งในค่าแรง ค่าวัสดุอุปกรณ์และผู้รับเหมาก็ได้เริ่มดำเนินงานไปแล้วบางส่วน ได้สั่งของ สัมภาระที่จะใช้ในการก่อสร้างตลอดจนได้นำอุปกรณ์เครื่องมือที่จะใช้ในการทำงานมาไว้ที่สถานที่ก่อสร้างแล้ว ต่อมาภายหลังปรากฏว่า ผู้รับเหมาไม่มาทำงานต่อ หรือทิ้งงานไป ผลที่ตามมาก็คืองานที่ว่าจ้างต้องหยุดชะงัก ไม่แล้วเสร็จ เช่นนี้ ปัญหาย่อมตกอยู่กับผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้านที่ต้องคิดหนักว่าต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป หากจะจ้างผู้รับเหมาคนใหม่ เราจะสามารถนำสัมภาระหรืออุปกรณ์ผู้รับเหมาคนก่อนทิ้งไว้มาใช้งานได้ไหม ผู้เขียนในฐานะนักกฎหมายจึงมีคำแนะนำในเรื่องนี้ดังนี้
ตามกฎหมาย การที่ข้อสัญญาตกลงให้ผู้รับเหมาเป็นผู้รับผิดชอบในวัสดุ อุปกรณ์สัมภาระด้วยนั้น ตราบใด ที่ผู้รับเหมายังมิได้นำสัมภาระเหล่านั้นมาประกอบก่อเป็นสิ่งก่อสร้างให้กับเจ้าของบ้าน ยังคงต้องถือว่าผู้รับเหมายังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นอยู่ (ตีความตามนัย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 603 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้า ผู้รับจ้าง เป็นผู้จัดหา สัมภาระ และ การที่จ้างทำนั้น พังทลาย หรือ บุบสลายลง ก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่า ความวินาศ อันนั้น ตกเป็นพับ แก่ผู้รับจ้าง หากความวินาศนั้น มิได้เป็นเพราะ การกระทำของ ผู้ว่าจ้าง วรรค 2 ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้าง ก็เป็นอัน ไม่ต้องใช้ ) ดังนั้น แม้ผู้รับเหมาจะทิ้งงาน ตามกฎหมาย เจ้าของบ้านยังไม่อาจนำสัมภาระหรืออุปกรณ์ที่เขาทิ้งไว้มาใช้ได้ คงทำได้เพียงใช้สิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินดังกล่าวของเขาไว้เท่านั้น (ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่น และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่ง ครองนั้นไซร้ ท่านว่า ผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่า จะได้ชำระหนี้ ก็ได้ แต่ความที่กล่าวนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อ หนี้นั้น ยังไม่ถึงกำหนดวรรค2 อนึ่ง บทบัญญัติ ในวรรคก่อนนี้ท่านมิให้ใช้บังคับถ้า การที่เข้าครอบครองนั้น เริ่มมาแต่ การอันใดอันหนึ่ง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ซึ่งหากจะอธิบายให้เข้าใจและสามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ผู้เขียนแนะนำว่า เราสามารถดำเนินการได้ 3 รูปแบบ ตามแต่ความเหมาะสม ได้แก่...”
วิธีที่หนึ่ง (คลิกอ่านรายละเอียด วิธีที่หนึ่ง)
วิธีที่สอง (คลิกอ่านรายละเอียด วิธีที่สอง)
“วิธีที่สาม เมื่อผู้รับเหมาทิ้งงานไป และผู้ว่าจ้างหรือเจ้าของบ้านบอกเลิกสัญญาแล้ว เจ้าของบ้านสามารถแจ้งแก่ผู้รับเหมาว่า ต่อจากนี้ไป เจ้าของบ้านจะยึดถือสัมภาระ และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆเพื่อตน ในทางกฎหมายเรียกการกระทำอย่างนี้ว่า การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือ (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ซึงบัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองบุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก) และเมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี ย่อมต้องถือว่า เจ้าของบ้านได้กรรมสิทธิ์ในสัมภาระหรืออุปกรณ์นั้น ตามกฎหมายเรียกวิธีการนี้ว่า การครอบครองปรปักษ์ (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ ) เช่นนี้ เมื่อเจ้าของบ้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สัมภาระหรืออุปกรณ์ เครื่องมือเหล่านั้นแล้ว ก็ชอบที่จะมีสิทธินำทรัพย์สินดังกล่าว มาใช้สอย จำหน่าย หรือกระทำการใดๆได้โดยอิสระ ทั้งนี้ เจ้าของบ้านจะเลือกใช้วิธีการนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะคุ้มค่าแก่การที่เจ้าของบ้านจะต้องเก็บรักษาของนั้นไว้หรือไม่"
"อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมด 3 แนวทางข้างต้น เป็นกรณีที่เจ้าของบ้านจะยึดเอาสัมภาระหรืออุปกรณ์ที่ผู้รับเหมาทิ้งไว้ไปใช้ประโยชน์ แต่หากเจ้าของบ้านเห็นว่า การมีสัมภาระของผู้รับเหมาอยู่ในบริเวณพื้นที่ของตนจะเป็นภาระมาก และรกพื้นที่ ไม่มีประโยชน์อันใดเลย เจ้าของบ้านสามารถแจ้งผู้รับเหมาให้มาขนย้ายสิ่งของดังกล่าวออกไปในคราวบอกเลิกสัญญาได้ และแจ้งด้วยว่า หากไม่มาขนย้ายภายในกำหนดเวลาที่แจ้งไว้ เจ้าของบ้านจะใช้สิทธิจัดการตามที่เห็นสมควรเพื่อไม่ให้เกะกะ กีดขวางพื้นที่ของเจ้าของบ้าน ทั้งนี้ ในการส่งหนังสือบอกกล่าวแก่ผู้รับเหมา ควรทำด้วยวิธีการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนแบบตอบรับด้วย”
นี่เป็นคำแนะนำของนักกฎหมาย ว่าด้วยเรื่อง “ผู้รับเหมาทิ้งงาน วัสดุที่ทิ้งไว้เอามาใช้ได้หรือไม่” ซึ่งก็มีอยู่ 3 แนวทางที่เจ้าของบ้านหรือผู้ว่าจ้างสามารถทำได้ ซึ่งควรศึกษาเอาไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในแนวทางปฏิบัติในกรณีเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่า ซีรี่ย์บทความชุดนี้ จะเป็นประโยชน์กับทั้งฝ่ายเจ้าของบ้านและฝ่ายผู้รับเหมา ให้รู้สิทธิของตนเองและสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง
ขอบคุณบทความจาก :houzzMate.com แหล่ง หาช่าง ผู้รับเหมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น