วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

งานเพิ่ม งานแก้ ต่างกันตรงไหนผู้รับเหมาไม่อยากเสียเปรียบต้องรู้

ในช่วงที่มีงานก่อสร้าง เชื่อว่าบ่อยครั้งที่ ผู้รับเหมา จำเป็นต้องทำงานที่รู้สึกว่าอยู่นอกเหนือจากกระบวนการทำงานที่วางแผนไว้แต่เดิม ซึ่งในหลายกรณีการทำงานในส่วนนี้ เจ้าของบ้านจะร้องขอหรือแจ้งให้ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ดำเนินการให้ โดยที่ไม่ได้จ่ายเงินในส่วนนี้เพิ่ม ซึ่งมันมักจะเป็นเรื่องผูกพันกันระหว่างงานที่รับผิดชอบอยู่ ที่เรียกว่า “งานแก้” กับสิ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากเดิม ที่เรียกว่า “งานเพิ่ม” ซึ่งเรื่องนี้บางทีเกิดความสับสนทำให้คนที่งาน รับเหมาก่อสร้าง รู้สึกว่าเสียเปรียบเพราะทำงานมากกว่าเดิม แต่ไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่บางทีก็รู้สึกว่ามันเป็นความรับผิดชอบของเราด้วย... เรื่องนี้เรามาลองฟังมุมมองของนักกฎหมาย เพื่อที่จะได้ช่วยคลี่คลายความสงสัยในแบบที่กฎหมายรองรับ จะได้ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ ให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรม ไม่รู้สึกอึดอัด หรือ รู้สึกว่ามีการได้เปรียบเสียเปรียบกันเกิดขึ้น...




งานเพิ่ม งานแก้ ไม่เหมือนกัน ผู้รับเหมา ต้องแยกให้ดี



งานเพิ่มกับงานแก้นั้น แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงมีงานก่อสร้างอยู่เสมอ และดูเหมือนเป็นเรื่องงานก่อสร้างเหมือนๆ กัน แต่... ทั้งสองอย่างนี้ในความเป็นจริงแตกต่างกันมาก เพราะ “งานแก้” ส่วนใหญ่ ผู้รับเหมา ขอรับเงินในการดำเนินการไม่ได้ (เน้นว่า “ส่วนใหญ่” ไม่ใช่ทุกกรณี) ส่วน กรณีงานเพิ่ม เป็นเรื่องที่สามารถขอรับเงินค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนได้เต็มที่ตามความสมควรของงานที่เกิดขึ้น

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนถึงปัญหาที่ทำให้เกิดความสับสนระหว่างงานแก้กับงานเพิ่ม ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ ผู้รับเหมา รู้สึกเหนื่อยเพิ่มแต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมจากการทำงาน... ปัญหาเรื่องนี้ ส่วนมากเกิดขึ้นในช่วงที่งานก่อสร้างเริ่มไปได้ส่วนหนึ่งแล้ว (บางกรณีถึงกับเสร็จแล้วก็มี) แต่เจ้าของบ้าน หรือ ผู้ว่าจ้าง มีการเข้ามาตรวจสอบแล้วแจ้งให้ทำการปรับเปลี่ยนจากงานที่ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ดำเนินการไป อาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนเฉพาะส่วนประกอบบางส่วน ไปจนถึงการให้รื้อแล้วสร้างใหม่ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น ฝ่าย ผู้รับเหมา ต้องใช้เวลา คนทำงาน และมีค่าใช้จ่ายในการทำงานเพิ่มจากเดิม ซึ่งในกรณีเป็นงานที่ถูกขอให้ทำ เพิ่ม ฝ่าย ผู้รับเหมา สามารถขอรับค่าดำเนินการเพิ่มได้ แต่หากว่าเป็นกรณี งานแก้ ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบของ ผู้รับเหมาก่อสร้างเอง เราลองมาดูในมุมของนักกฎหมาย ว่าอย่างไรคือ งานเพิ่ม และอย่างไรถึงจะเรียกว่า งานแก้ เพื่อที่จะได้พิจารณาได้ว่า สามารถเรียกร้องขอค่าดำเนินการได้มากน้อยอย่างไร...

คำถาม : อย่างไรเป็นงานแก้อย่างไรเป็นงานเพิ่ม ที่ผู้รับเหมาสามารถขอรับค่าดำเนินการเพิ่มได้...



มุมมองนักกฎหมาย :

“ต้องพิจารณาเสียก่อนว่า งานที่เจ้าของบ้านให้ผู้รับเหมาแก้ไข เป็นเหตุเพราะการปฏิบัติงานบกพร่องของผู้รับเหมาหรือไม่ เช่นผู้รับเหมาติดตั้งวัสดุอุปกรณ์บางอย่างไม่เรียบร้อย ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้การได้ เป็นต้นว่า ผู้รับเหมาติดตั้งลิ้นกลอนประตูห้องน้ำไม่ตรงกับช่องล็อคลิ้นบานประตูเป็นเหตุให้ประตูไม่สามารถลงกลอนได้ ,ผู้รับเหมาติดตั้งประตูเอียงเป็นเหตุให้การเปิดปิดประตูฝืด,ผู้รับเหมาทาสีไม่สม่ำเสมอดูไม่เรียบร้อย ฯลฯ ดังนี้ ย่อมยังอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับเหมาที่ต้องแก้ไขงานให้เจ้าของบ้านจนกว่าจะอยู่ในสภาพเรียบร้อย พร้อมใช้งานได้ เว้นเสียแต่ เหตุที่งานไม่เรียบร้อยดังกล่าวนั้น เป็นเพราะตัวเจ้าของบ้านเองเป็นคนออกคำสั่ง หรือกำหนดให้ทำเช่นนั้น ทั้งที่ผู้รับหมาได้เตือนแล้ว เช่นนี้ แม้งานจะไม่เรียบร้อย ก็คงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับเหมาที่จะต้องแก้ไขให้ตามร้องขอแต่อย่างใด ซึ่งหากเจ้าของงานยังเรียกร้องให้แก้ไขงานอีกในภายหลัง ผู้รับเหมาก็สามารถแจ้งแก่เจ้าของงานได้ว่า การแก้ไขดังกล่าวจะต้องมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม”

สรุปก็คือ งานแก้ ที่ผู้รับเหมาต้องเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเอง จะต้องเป็นเรื่องงานก่อสร้างที่เกิดจากความผิดพลาดของฝ่าย ผู้รับเหมา เป็นผู้ควบคุมดูแล แต่ถ้าเป็น ความผิดพลาดที่เกิดจากเจ้าของบ้านเป็นผู้สั่งงานอันนี้ถือเป็นงานเพิ่มสามารถขอรับค่าดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นการ สร้างเสริมขึ้นนอกจากแบบเดิม หรือ กรให้ปรับแก้ให้แตกต่างไปจากที่ตกลงกันไว้แต่แรก


ต่อให้เป็นงานแก้ ก็สามารถขอรับค่าใช้จ่ายได้ ผู้รับเหมา ควรทราบ



แม้จะเป็นจริงว่า งานแก้ ผู้รับเหมา ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเป็นหลัก แต่ก็มีเช่นกัน ที่สามารถเรียกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ ดังที่เราได้กล่าวไปในข้างต้น ซึ่งเรื่องนี้มีความเห็นจากนักกฎหมายให้เอาไว้ว่า

“ข้อตกลงในสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนเริ่มทำงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงได้ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้เคยตกลงกันไว้เช่นไร ซึ่งจะง่ายขึ้นหากมีการตกลงกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และมีการระบุถึงรายละเอียดเรื่องเงื่อนไขในการแก้ไขงานไว้ชัดเจน เช่น ในสัญญาได้มีการระบุไว้ว่า ผู้รับเหมาขอสงวนสิทธิในการแก้ไขงานไม่เกินกี่ครั้ง หรือ ผู้รับเหมาขอสงวนสิทธิในการแก้ไขงานให้ผู้ว่าจ้างเฉพาะในกรณีที่ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างไม่ตรงตามแบบที่ตกลงไว้ หรือใช้วัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามสภาพ คุณภาพ ชนิด ประเภท ที่ได้ตกลงกันไว้แต่แรก ในกรณีเช่นนี้ หากข้อสัญญาระบุไว้ชัดเจน เมื่อเจ้าของบ้านขอให้แก้ไข ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา”

นั่นหมายถึงว่า ผู้รับเหมา สามารถทำข้อตกลงเอาไว้ในสัญญาได้ในเรื่องจำนวนครั้งของการแก้ไขงาน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาให้ฝ่ายเจ้าของบ้านต้องมีการเข้ามาร่วมดูงานและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และไม่เกิดปัญหาที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้วึกว่าถูกเอาเปรียบมากเกินไปได้ด้วยเช่นกัน...

ขอบคุณบทความจาก : houzzMate.com แหล่ง หาช่าง , ผู้รับเหมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น