มุมกฎหมาย บ้านสร้างใหม่ผนังแตกร้าว ผู้รับเหมา ต้องผิดชอบแค่ไหนอย่างไร
ปัญหาเรื่องงานก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัย มีหลายเรื่องที่มีข้อสงสัยเกิดขึ้น กรณี บ้านสร้างขึ้นใหม่ แต่ไม่สามารถเข้าอยู่ได้เนื่องจากเกิดปัญหาผนังแตกร้าวเสียหาย เป็นอีกเรื่องที่มีโอกาสพบเจอ และแน่นอนว่ามีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องหาทางแก้ แต่บางครั้งก็เกิดกรณีพิพาท เพราะความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องความรับผิดชอบ... ทำให้การที่จะหาข้อยุติ ระหว่าง เจ้าของบ้าน ผู้ว่าจ้าง กับช่าง หรือ ผู้รับเหมา ที่ดำเนินงาน บางทีก็ไม่ง่าย ดังนั้นเพื่อความชัดเจน การศึกษาปัญหาเหล่านั้นในแง่มุมทางกฎหมาย เป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อช่วยให้เราทราบถึงขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง และทราบสิทธิในการได้รับการคุ้มครองตนเองทางกฎหมาย
คำถาม บ้านเพิ่งสร้างเสร็จ เข้าอยู่ไดไม่นานผนังแตกร้าว ให้ผู้รับเหมากลับมารับผิดชอบได้หรือไม่
ความเห็นนักกฎหมาย :
“ปัญหาหนึ่งที่พบมากหลังจากที่ผู้รับเหมาส่งมอบงานให้เจ้าของบ้านแล้ว ก็คือ ปัญหาเรื่องการพบความเสียหายในภายหลังจากส่งมอบบ้านที่ก่อสร้างหลังจากระยะเวลาผ่านพ้นไปแล้วช่วงหนึ่ง ปัญหานี้หลายท่านอาจมีข้อสงสัยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เจ้าของบ้านจะสามารถเรียกร้องให้ผู้รับเหมากลับมารับผิดชอบได้หรือไม่ เมื่อได้พิจารณาตามกฎหมายจะมีคำตอบดังนี้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การว่าจ้างให้ก่อสร้าง โดยทั่วไปแล้ว จะถือว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ที่ผู้รับเหมาเป็นผู้รับจ้างและเจ้าของบ้านเป็นผู้ว่าจ้าง ในมาตรา 600 ได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดว่า
‘ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องเพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น’
เช่นนี้คำตอบที่ค้างคามานานของเจ้าของบ้านที่ว่า ในกรณีบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่เข้าอยู่ไม่ได้เพราะผนังแตกร้าว จะให้ผู้รับเหมากลับมารับผิดชอบได้หรือไม่นั้น ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 600 ดังกล่าว กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องผูกพันรับผิดเป็นเวลา 1 ปีนับแต่วันส่งมอบ หรือ 5ปี ในกรณีสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน ที่มิใช่โรงเรือนหรืออาคารที่ทำด้วยไม้ ทั้งนี้ ความผูกพันให้ต้องรับผิดของผู้รับจ้าง(ผู้รับเหมา) ตามมาตรานี้มิได้หมายถึงเฉพาะการก่อสร้างโรงเรือนหรืออาคารเท่านั้น ยังรวมถึงการก่อสร้างหรือรับจ้างทำสิ่งของอย่างอื่นด้วย เช่น การรับจ้างติดตั้งแอร์ การเดินระบบน้ำหรือไฟฟ้า ฯลฯ แต่ในกรณีที่มิใช่การรับทำสิ่งปลูกสร้างที่ติดพื้นดิน ระยะเวลาที่ผูกพันให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดก็จะอยู่ในช่วง 1 ปี
อย่างไรก็ตาม มาตรา 600 ข้างต้นที่บัญญัติให้ผู้รับจ้างต้องผูกพันรับผิดในความชำรุดบกพร่อง หรือเสียหายที่เกิดขึ้นในภายหลัง แม้จะได้ส่งมอบงานไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นที่ผู้รับจ้างจะไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 600 ดังกล่าว นั่นก็คือ ในกรณีที่ขณะส่งมอบงาน ผู้ว่าจ้าง ได้รับมอบงานที่ปรากฏความชำรุดบกพร่องอยู่ในขณะนั้นโดยมิได้โต้แย้ง ทั้งๆ ที่ผู้ว่าจ้างก็พบเห็นและทราบถึงความชำรุดบกพร่องอยู่แล้ว เช่นนี้ ตามมาตรา 598 ถือว่า เป็นกรณีผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานที่มีความชำรุดบกพร่องไว้โดยไม่อิดเอื้อน ย่อมต้องถือว่าผู้ว่าจ้างยอมรับและไม่ติดใจเอาความกับความเสียหายนั้นแล้ว ผู้ว่าจ้างย่อมไม่สามารถเรียกร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดอีกได้ ทั้งนี้ หากเพียงผู้ว่าจ้างยอมรับงานไว้ก่อน แต่ได้แจ้งแก่ผู้รับเหมาว่า ผู้ว่าจ้างได้พบเห็นถึงความชำรุดบกพร่องแล้ว แต่ขอให้ผู้รับจ้างกลับมาแก้ไขในวันหลัง เช่นนี้ ไม่ถือว่า ผู้ว่าจ้างยอมรับเอางานนั้นโดยไม่อิดเอื้อน ผู้รับจ้างยังคงผูกพันที่จะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนั้นอยู่
ดังนั้น หากเจ้าของบ้านได้พบเห็นถึงปัญหาในความชำรุดบกพร่องหลังจากส่งมอบงานแล้ว ควรรีบแจ้งแก่ผู้รับจ้างโดยเร็วภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้รับจ้างรีบดำเนินการแก้ไข และเป็นการรักษาสิทธิของผู้ว่าจ้างเอง”
จากคำตอบที่เป็นความเห็นในมุมของนักกฎหมาย ก็น่าจะชัดเจนแล้วในเรื่องของความรับผิดของ ผู้รับเหมา ซึ่งจะต้องรับผิดชอบเข้ามาแก้ไขให้ แต่ก็มีกำหนดเวลาที่กฎหมายระบุเอาไว้ คือ ภายใน 1 ปี และ 5 ปี หรือ... เป็นไปตามกรอบเวลาในสัญญารับประกันที่ผู้ว่าจ้างทำไว้กับผู้รับเหมา อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ ผู้ว่าจ้างยินยอมรับงาน โดยที่รับทราบอยู่แล้วว่า มีปัญหา แต่ไม่ได้ทักท้วง ยอมรับงานตามสภาพ ทาง ผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ นี่ก็เป็นประเด็นที่ควรทราบและทำความเข้าใจกันเอาไว้ทั้งฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ว่าจ้าง และ ผู้รับเหมา ที่เป็นผู้รับจ้างทำของตามกฎหมาย... และหากมีประเด็นข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถแสดงความคิดเห็นเอาไว้ได้ท้ายบทความนี้ เราจะนำคำถามส่งต่อให้กับนักกฎหมาย เพื่อให้มาชี้แนะคลายข้อสงสัย
ขอบคุณบทความจาก : houzzmate.com แหล่ง หาช่าง ผู้รับเหมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น